ในปัจจุบันนี้มีผู้ให้ความสนใจอย่างมากต่อปลาทะเล เพราะจากข้อมูลทางการศึกษาที่ค้นพบถึงประโยชน์อย่างมากต่อร่างกาย โดยเฉพาะการศึกษาในปี 1970 ที่พบว่าชาวเอสกิโม ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศแคนาดาและรัฐอลาสก้าประเทศสหรัฐอเมริกา ชนพื้นเมืองนี้จะมีการบริโภคอาหารจากปลาทะเลและสัตว์ทะเล แต่กลับมีอัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดต่ำมาก
ในทางตรงข้ามโรคดังกล่าวกลับมีสถิติสูงมากในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น หลายรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศอังกฤษ ประเทศเยอรมันนี รวมทั้งประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยด้วย จึงทำให้นักวิจัยเกิดความสนใจและค้นหาคำตอบกันอย่างมาก จากข้อมูลเบื้องต้นพบว่าปลาทะเลเป็นแหล่งอาหารที่ดีของโปรตีนและมีคุณค่าทางโภชนาการเนื่องจากมีกรดไขมันที่จำเป็น มีไขมันประเภทอิ่มตัวต่ำ และมีสารอาหารอื่นๆ อีก เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินดี วิตามินบี 12 วิตามินเอ เป็นต้น
สารอาหารที่มีอยู่ในปลาทะเลนั้น ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดคือกรดอีโคซาเปนทีโนอิก หรือ อี พี เอและกรดโดโคซาเฮกซิโนอิกหรือดี เอช เอ ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เมื่อร่างกายได้รับกรดไขมันทั้งสองตัวนี้ จะช่วยลดการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ลดการอักเสบ และสร้างสารที่มีส่วนช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ร่วมถึงลดระดับของไขมันประเภทไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเลือดจับตัวกันเป็นลิ่มและอุดตันหลอดเลือด
จากการศึกษายังพบถึงประโยชน์อื่นๆ ของการรับประทานปลาทะเลว่า ลดความดันโลหิตในคนที่ความดันโลหิตสูง โดยออกฤทธิให้หลอดเลือดแดงคลายตัว ลดการอักเสบในผู้ที่มีปัญหาของโรคข้ออักเสบหรือรูมาตอยด์ ลดการเกิดโรคซึมเศร้า ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ ทั้งยังมีสารดีเอชเอ ซึ่งเป็นสารสำคัญต่อสมอง ช่วยให้การทำงานของสมอง และระบบประสาทมีประสิทธิภาพ จึงเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ และช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อม หรือโรคอัลไซเมอร์ได้
ปลาทะเลที่เป็นแหล่งของสารอาหารและกรดไขมันที่ดี ได้แก่ ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาโอ ปลาเทร้า ปลาอินทรีย์ ปลาทูน่า ปลาฮาลิบัท ปลากะพง ปลาดุกทะเล ปลาคอด ทั้งนี้ สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้กินปลาและอาหารทะเลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในปริมาณครั้งละ 3-4 ช้อนกินข้าว และควรปรุงประกอบอาหารด้วยวิธีการย่าง อบ หรือต้ม เน้นการเลือกประเภทยของปลาให้มีความหลากหลายและมาจากหลายแหล่งที่มา