สารอาหารที่มีอยู่ในปลาทะเลที่ช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดคือกรดอีโคซาเปนทีโนอิก หรือ อี พี เอ และกรดโดโคซาเฮกซิโนอิกหรือดี เอช เอ ซึ่งเป็นไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เมื่อร่างกายได้รับกรดไขมันทั้งสองตัวนี้จะช่วยลดการจับตัวของเกล็ดเลือดที่ก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแข็งตัว ลดการอักเสบ และสร้างสารที่มีส่วนช่วยให้หลอดเลือดขยายตัวและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ร่วมกันกับการลดระดับของไขมันประเภทไตรกลีเซอไรด์ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดภาวะเลือดจับตัวกันเป็นลิ่มและอุดตันหลอดเลือดจากการศึกษายังพบถึงประโยชน์อื่นๆ ของการรับประทานทะเล ได้แก่ ลดความดันโลหิตในคนที่ความดันโลหิตสูงโดยออกฤทธิ์ให้หลอดเลือดแดงคลายตัว ลดการอักเสบในผู้ที่มีปัญหาของโรคข้ออักเสบ หรือรูมาตอยด์ ลดการเกิดโรคซึมเศร้า ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ และสารดีเอชเอเป็นสารที่จำเป็นต่อสมองช่วนให้การทำงานของสมองและระบบประสาทมีประสิทธิภาพช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ และช่วยป้องกันโรคความจำเสื่อมหรือโรคอัลไซเมอร์
ปลาทะเลที่เป็นแหล่งของสารอาหารและกรดไขมันที่ดี ได้แก่ปลาทู ปลาแซลมอน ปลาโอ ปลาเทร้า ปลาอินทรีย์ ปลาทูน่า ปลาฮาลิบัท ปลากะพง ปลาดุกทะเล ปลาคอด สมาคมโรคหัวใจแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา แนะนำให้กินปลาและอาหารทะเลอย่างน้อย 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในปริมาณครั้งละ 3-4 ช้อนกินข้าว และควรปรุงประกอบอาหารด้วยวิธีการย่าง อบ หรือต้ม เน้นการเลือกประเภทของปลาให้มีความหลากหลายและมาจากหลายแหล่งที่มาแม้ว่าปลาทะเลจะมีประโยชน์ต่อร่างกายหลายอย่างแต่พบว่าปลาทะเลไม่ใช่จะมีแต่ข้อดีเท่านั้นเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมที่ปลาอาศัยอยู่จะมีผลต่อคุณภาพของเนื้อปลาเช่นกัน ดังนั้นจึงควรรู้ข้อควรระวังของการรับประทานปลาทะเล ซึ่งได้แก่ การมีโลหะหนักปนเปื้อนอันเนื่องมาจากของเสียทั้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ครัวเรือน เรือเดินสมุทรที่มีการปล่อยของเสียเหล่านี้ลงสู่ทะเล สารพิษหลักที่พบในปลาทะเลคือเมทิวเมอร์คิวรีซึ่งเป็นสารพิษกลุ่มปรอท มีผลทำให้เกิดการ สะสมในร่างกายและลดหรือทำลายประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ทำให้ไตเสื่อม ลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย สมองเสื่อม ความสามารถทางด้านสติปัญญาลดลง